วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เบิ่งงานบุญบั้งไฟ...ถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้

ถึง...เพื่อน

มองไปไกลสุดสายตา บนท้องฟ้ากว้าง ระเรื่อยลงมาตรงขอบฟ้า หาใช่ผืนน้ำทะเลสีครามไม่ หากแต่เป็นพื้นดิน เป็นท้องทุ่งโล่งอันกว้างใหญ่ วันนี้ตอนนี้แทนที่ฉันจะยืนอยู่บนหาดทรายชายฝั่ง ฉันกลับยืนอยู่ท่ามกลางทุ่งนาโล่ง มองไปทางไหนก็มีแต่ทุ่งกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่ประปราย ซึ่ง เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่ชวนให้หลงใหลกับความงามตามธรรมชาติ


เธอเดาออกไหมว่าฉันอยู่ที่ใด ไปไหนมา ?

ฉันอยู่บนพื้นแผ่นดิน ที่เขาเรียกกันว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ฉันไปเยือนจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มากที่สุด มีถึง 3 ใน 5 ส่วนของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้งหมด

เขาเล่ากันมาว่า เมื่อก่อนมีพวกกุลา ซึ่งเป็นพวกที่เดินทางค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ พวกกุลาเป็นพวกที่มีความเข้มแข็ง อดทนเป็นเยี่ยม แต่เมื่อพวกกุลาเดินทางมาถึงทุ่งนี้ ได้รับความทุกข์ยากเป็นอันมากถึงกับร้องไห้ เพราะตลอดทุ่งนี้ไม่มีน้ำและก็ต้นไม้ใหญ่เลย หน้าแล้งพื้นดินก็แตกระแหง ด้วยเหตุฉะนี้แล จึงได้ชื่อว่า ทุ่งกุลาร้องไห้

ฉันมาเที่ยวงานบุญบั้งไฟของบ้านภูดิน อำเภอปทุมรัตน์ เพื่อนเจ้าบ้าน บอกให้ฉันฟังว่า งานบุญบั้งไฟ นิยมทำกันเดือนหกเป็นประเพณีทำเพื่อบูชาพระยาแถนซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝน เมื่อจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาแล้ว เทพเจ้าองค์นี้จะบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาลและมีปริมาณเพียงพอแก่การปลูกพืชพันธุ์ ธัญญาหาร


ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าขั้นตอนเขาทำกันอย่างไรบ้าง เพื่อนบอกว่าช่วงบ่ายเขาจะมีขบวนแห่ เพื่อนชวนฉันไปรับหลานที่ร้านแต่งหน้าในตัวอำเภอ ฉันเห็นเขาแต่งหน้า ใส่ชุดไทยกันสวยงาม ตั้งแต่เด็กจนถึงสาววัยรุ่น ฉันและเพื่อนขับรถมาส่งเด็กงามสาวงามที่จุดตั้งขบวน


ในขบวนแห่ก็มีรถที่ตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อแห่แหนบั้งไฟไปที่วัด ฉันเห็นมีคนหนึ่งอยู่บนยอดสูงบนรถที่ตกแต่งใกล้กับหัวพญานาค เขาขึ้นไปทำไมไม่รู้เหมือนกัน จนเริ่มเคลื่อนขบวนก็เลยถึงบางอ้อ เขาไปนั่งบังคับหัวพญานาคให้หมุนไปหมุนมาแล้วก็พ่นน้ำออกมา เพื่อนฉันบอกว่า เขามีความเชื่อเรื่องพญานาคให้น้ำ

ฉันเห็นม้าตัวสูงใหญ่ บรรทุกอยู่บนรถ บนม้าก็มีหญิงชายคู่หนึ่งนั่งอยู่บนนั้น ป้ายนำหน้าม้าเขาเขียนไว้ว่า “ผาแดง นางไอ่” แล้วผาแดงนางไอ่ เกี่ยวอะไรกับบุญบั้งไฟล่ะ






เพื่อนฉันก็เลยเล่าตำนานของผาแดงกับนางไอ่ให้ฟัง

ที่เมืองหนึ่ง พอดีฉันจำชื่อเมืองไม่ได้ มีพญาขอมเป็นเจ้าเมืองปกครอง พระยาขอมมีลูกสาวแสนสวยคนหนึ่ง ชื่อ ไอ่คำ ซึ่งความงามนี้ก็กะฉ่อนไปเข้าหูของท้าวผาแดง ที่อยู่อีกเมืองหนึ่ง ท้าวผาแดงจึงได้แอบมาหานางไอ่คำ และก็สมัครรักใคร่กัน



ครั้นถึงกลางเดือนหกพระยาขอมจะทำบุญบั้งไฟ จึงมีใบบอกบุญไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นบริวารให้ทำบั้งไฟไปร่วมจุดในงาน ท้าวผาแดงไม่ได้รับใบบอกบุญ แต่ได้ทราบข่าวจึงจัดบั้งไฟไปร่วมบุญด้วย และได้พบนางไอ่คำอีก ในการจุดบั้งไฟของพระยาขอมกับท้าวผาแดงพนันกันว่า ถ้าบั้งไฟของใครชนะจะได้ทรัพย์สมบัติและนางสนมกำนัล สำหรับท้าวผาแดงนั้นจะยกนางไอ่คำให้ ในเวลาจุดปรากฏว่าบั้งไฟของเมืองอื่น ๆ ขึ้นหมด ส่วนของพระยาขอมไม่ขึ้น และของท้าวผาแดงแตกกลางบั้ง แต่พระยาขอมก็เฉยเสียไม่ทำตามสัญญา เจ้าเมืองต่าง ๆ จึงพากันกลับหมด ส่วนท้าวผาแดงก็กลับเมืองของตนพร้อมกับความทุกข์เพราะความรักและบั้งไฟไม่ขึ้น



ในงานนี้มีภังคีซึ่งเป็นลูกชายพญานาค ได้แปลงกายมาร่วมงานด้วย เมื่อได้เห็นนางไอ่ก็หลงรัก จึงได้แปลงกายเป็นกระรอกเผือกมาปีนป่ายตามต้นไม้ใกล้กับห้องพักนางไอ่ เมื่อนางไอ่เห็นกระรอกเผือกจึงอยากได้ ให้นายพรานจับมาให้ นายพรานได้ยิงกระรอกเผือกตาย ซึ่งก่อนตายกระรอกเผือกหรือภังคีได้อธิษฐานว่า ขอให้เนื้อหาจงเอร็ดอร่อย พอกินแก่คนทั้งเมือง



เมื่อพ่อของภังคีทราบจึงให้ฆ่าทุกคนที่ได้กินเนื้อภังคี ในวันนั้นเองท้าวผาแดงทนคิดถึงนางไอ่ไม่ไหว จึงขี่ม้าบักสามมาหานางไอ่ และได้พานางไอ่หนี แต่ก็ช่วยนางไอ่ให้รอดพ้นจากพญานาคไม่ได้ ท้าวผาแดงเสียใจอย่างมาก จึงอธิษฐานต่อเทพยดาว่าจะขอตายเพื่อไปต่อสู้เอานางไอ่คำกลับคืนมา



นี่ล่ะนะความรัก ตำนานความรักมีทั้งสุขสมหวัง เศร้าทุกข์ผิดหวัง ชีวิตจริงของเราก็เหมือนกันมีทั้งสุขทุกข์ปนกันไป สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง


เล่าเรื่องผาแดงนางไอ่มาซะยาวเลย นอกจากจะมีผาแดงนางไอ่แล้ว ในขบวนก็ยังมี การฟ้อนรำ การเซิ้ง ระหว่างถ่ายรูปและกำลังสนุกกับจังหวะการเซิ้ง การฟ้อนรำอยู่ ก็เหลือบไปเห็น น้าผู้หญิงสวมชุดแดง หมวกแดง หาบปลัดขิกอันใหญ่ เพื่อนฉันบอกว่า ที่มีอยู่ในงานนี้ด้วย เพราะว่า สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่างฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิตและเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝนซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช



หลังจากเสร็จสิ้นขบวนแห่ก็จะเป็นการจุดบั้งไฟขึ้นฟ้า เสียดายฉันไม่ได้ไปดู เลยไม่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการจุดบั้งไฟเลย
ไว้คราวหน้า ถ้ามีโอกาสอีกจะไม่พลาดแล้ว ฉันเลยมีแต่รูปบั้งไฟอันน้อยนิด มาให้ดู

ในค่ำคืนของวันนี้ ทางวัดก็มีการจัดงาน มีดนตรี มีการแสดงของลูกหลาน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ทำการทอดผ้าป่า เป็นการร่วมกันของลูกหลานที่ไปทำงานไกลบ้านกลับมาทำบุญ สร้างความเจริญให้วัดบ้านเกิด

ที่นี่จะมีการให้ของที่ระลึกแก่ผู้ที่มาทำบุญด้วย ของที่ให้ก็เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำกันเอง อย่างเช่น เสื่อ หมอน ที่นอน เป็นต้น เมื่อได้ของที่ระลึกกันแล้วก็แยกย้ายกันกลับ บ้านภูดินก็คงเงียบลงอีกครา เพราะลูกหลานต้องกลับกรุงเทพ กลับไปยังสถานที่ทำงาน เพื่อหาเงินดำรงชีพกันต่อไป แต่คงอีกไม่นานนัก ลูกๆ หลาน ๆ ก็คงกลับมาเยี่ยมเยือนผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ที่ให้กำเนิด กลับมาเยี่ยมถิ่นที่เขาเกิด

ฉันหวังว่า เธอจะสนุกและได้ความรู้บ้างเกี่ยวกับประเพณีหนึ่งของไทย ในดินแดนอิสานนะจ๊ะ

คิดถึง
ตะแบก

0 ความคิดเห็น: