วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เที่ยวเหนือ 4 จังหวัด…(1)อุตรดิตถ์



ถึง…เพื่อน




หวัดดีจ้า เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีนะจ๊ะ เมื่อตอนปีใหม่ฉันไปเที่ยวเมืองเหนือมา ไม่ได้เขียนมาบอกเล่า และเอาภาพถ่ายสวยๆ มาฝากสักที ช้าไปเยอะเหมือนกัน แต่ก็คงไม่เป็นไรนะ

ครั้งนี้ฉันไปเที่ยวมา 4 จังหวัด เหมือนว่าจะเที่ยวสะเปะสะปะยังไงไม่รู้ ฉันไป อุตรดิตถ์ น่าน เชียงใหม่ แล้วก็ลำปางจะ
ไม่นับจังหวัดที่ขับรถผ่านนะจ๊ะ ฉันคงทยอยเขียนเล่าให้เธอฟังทีละจังหวัดนะ

จังหวัดแรกที่ไปก็คือ อุตรดิตถ์ ฉันไปเที่ยวเขื่อนสิริกิติ์ ที่อำเภอท่าปลา ฉันแวะเข้าไปที่เขื่อนดินขนาดเล็กก่อน ดอกบัวตองที่เห็น ฉันถ่ายภาพมาจากที่นี่ ไม่ได้ไปถ่ายภาพไกลถึง แม่ฮ่องสอนหรอก




ฉันอยากไปชมทุ่งดอกบัวตองที่ดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ไม่มีโอกาสได้ไปสักที ปีนี้ก็ดูกลุ่มดอกบัวตองกลุ่มเล็กๆ ไปก่อนแล้วกัน ถ้าได้ไปเมื่อไหร่จะเอาภาพสวยๆ มาฝากนะ











ต่อจากนั้น ฉันก็ออกเดินทางต่อ ไปอีกไม่ไกลเท่าไรนัก ก็ถึงเขื่อนสิริกิติ์

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยสร้างขวางกั้นลำน้ำน่าน

บริเวณใกล้ๆ กับสันเขื่อนเขาทำป้ายขนาดใหญ่และตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ส่วนมากคนมาเที่ยวก็จะถ่ายรูปกับป้ายไว้เป็นที่ระลึกว่า ฉันได้เคยมาเที่ยวที่เขื่อนสิริกิติ์แล้วนะ

นอกจากป้ายแล้ว ก็ยังจัดสวนหย่อมปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ไว้อย่างร่มรื่นและสวยงาม มีชิงช้าไม้ให้นั่งพักผ่อน นั่งชมวิวอย่างสบายใจ








ฉันเดินตามเสียงประกาศไปเรื่อยๆ ก็พบเรือขนาดใหญ่จอดรอไว้บริการนักท่องเที่ยว สำหรับล่องเรือ เที่ยวชมความงามของทะเลสาบเหนือเขื่อน ที่มีเกาะแก่งกลางน้ำ ท่ามกลางทิวเขาสลับซับซ้อน

ฉันไม่ได้ไปล่องเรือหรอก เนื่องจากฉันมีเวลาน้อย แล้วฉันก็หิวแล้วด้วย ยังไม่ได้กินข้าวเช้าเลย นี่ก็สิบโมงเข้าไปแล้ว หาข้าวกินดีกว่า

มาที่เขื่อนซึ่งใกล้น้ำแบบนี้ ไม่กินปลาก็ไม่ได้แล้ว ฉันก็เลยสั่งปลามากิน







นั่งกินไป ชมวิวไป ไม่นานก็อิ่ม พร้อมออกเดินทางต่อได้ โดยก่อนจะออกจากบริเวณสันเขื่อน ก็แวะกราบไหว้พระเพื่อเป็นสิริมงคลในการเดินทาง







เมื่อขับรถออกมาจากสันเขื่อน แล้วเลี้ยวเข้าไปทางร้านอาหารใกล้ๆ กับสะพานข้ามน้ำ ก็พบกล่องของขวัญกล่องเบ้อเริ่มเลย เขาทำไว้สวยดี คงทำไว้ต้อนรับบรรยากาศอันครื้นเครงสนุกสนานในช่วงปีใหม่









ขับรถมาเรื่อยๆ จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำเขาทาสีสันไว้สะดุดตาสวยงามดีจัง สีฟ้า สีเหลือง สีแดง

ชมสีจัดจ้านของสะพานแล้ว ฉันก็ออกเดินทางต่อ โดยจุดหมายปลายทางต่อไปก็คือเข้าจังหวัดน่าน ซึ่งฉันจะเข้าน่านที่ ปากนาย แล้วฉันจะเขียนมาเล่าให้ฟังนะจ๊ะว่า ฉันไปเที่ยวที่ไหนในจังหวัดน่านมาบ้าง

คิดถึง
ตะแบก

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เก็บภาพ...ทุ่งนาอันเขียวขจี


ถึง…เพื่อน

เมื่อหลายวันก่อนฉันได้ผ่านไปที่ๆ ซึ่งฉันไม่ได้ไปนานแล้วเหมือนกัน ได้เห็นท้องทุ่งนาเขียวขจี ต้นข้าวต้นน้อยๆ ปลูกเต็มท้องทุ่ง มองดูแล้ว สดชื่นจังเลย มันบ่งบอกถึงความชุ่มช่ำของสายฝนที่โปรยปรายลงมาแทบจะทุกวันในช่วงนี้

ฉันจึงอดไม่ได้ที่จะต้องถ่ายรูป เมื่อวานนี้ได้โอกาส ตอนเย็นๆ ฉันก็เลยแวะไปที่ท้องทุ่งนาอันเขียวขจีแห่งนั้นอีกครั้ง เพื่อเก็บภาพมาฝากเธอ ฉันรู้สึกสบายตากับภาพท้องทุ่งนาข้าวสีเขียวที่อยู่ตรงหน้า สบายตัวกับอากาศอันสดชื่น สองอย่างนี้ก็เลยทำให้ฉันสบายใจ

คืนนี้ก็อีกเช่นกัน ฝนคงจะตกทั้งคืน หวังว่าพรุ่งนี้จะได้เห็นความสดชื่น ความสดใสของฟ้าหลังฝนอีกคราหนึ่ง



ฉันเดินตามทางถนนสายเล็กมาเรื่อยๆ มองไปที่ท้องฟ้า สวยจัง! ฟ้ายามเย็นเวลานี้กับท้องทุ่งนาสีเขียว




ต้นขี้เหล็กที่ปลูกข้างทางกับต้นข้าวกลางท้องทุ่ง ใครอยากเด็ดยอด เด็ดใบ ไปทำอาหารก็ได้นะจ๊ะ




เครื่องจักรอย่างหนึ่งที่สำคัญ ที่ใช้ทำนา จอดรอการใช้งานในวันรุ่งขึ้น




ดอกรักสีม่วงริมถนน




ทำให้ฉันนึกถึงตอนฉันเด็กๆ เมื่อเปิดเทอมใหม่ มีพิธีไหว้ครู ฉันกับเพื่อนๆ ก็จะไปหาเก็บดอกรักแถวข้างทางเพื่อไปทำพานไหว้ครู ออกแบบพานกันอย่างสวยงามเชียวล่ะ




เจ้าแมลงตัวน้อยเกาะอยู่บนใบดอกรัก ตรงรอยแหว่งนั่น ฝีมือเจ้าหรือเปล่าน๊า




ถัดจากเจ้าตัวเมื่อกี้ ก็เห็นเจ้าตัวแดงอีกตัวหนึ่ง ดอกรักแหว่งไปอีกเหมือนกัน สงสัยจะฝีมือเจ้าตัวแดง




มองไปมองมา ก็เจอเจ้าสองตัวนี้ มันน่ารักดีนะ สีก็สวย มันทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้




เด็กน้อย โบกมือทักทาย เก๊กท่า ให้ถ่ายรูป บอกว่าจะเอาไปลงหนังสือ จะถ่ายอีกไหม เท่านั้นล่ะ รีบเผ่นหนีเลย




ยายอุ้มหลานเดินเล่นยามเย็น ชีวิตที่เรียบง่ายอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ดูแล้วมีความสุขจัง




ฉันเดินลงจากถนน เดินมาตามคันนา เห็นนกตัวน้อยเกาะอยู่บนต้นหญ้า จะถ่ายรูปมาฝากสักหน่อย ว่าเดินเข้าไปเงียบๆ แล้วนา มันบินหนีไปเฉยเลย เธอดูกระท่อมปลายนา ไปก่อนนะจ๊ะ ในคืนฝนตก จะมีพระเอกนางเอกมาหลบฝนบ้างไหมหนอ




ยามที่ต้นข้าวขึ้นเขียวเต็มท้องทุ่ง คนทำนา คงมีความสุขกับผลผลิตที่พวกเขาได้ปลูกได้ทำมากับมือ




ถ้าข้าวออกรวงเมื่อไหร่ ชาวนาคงจะดีใจ ยามนั้นท้องทุ่งนาที่เคยเป็นสีเขียว ก็จะกลายเป็นสีเหลืองทองอร่ามเต็มท้องทุ่ง




มุมนี้ท้องฟ้าก็สวย เมฆกระจายอยู่เต็มท้องฟ้า ฉันชอบมองท้องฟ้า มองก้อนเมฆ




ดอกผกากรองริมทาง ฉันเคยรู้จักมันในนามดอกขี้ไก่ ไม่รู้ว่านามนี้มาจากไหน สงสัยดอกมันจะเหม็นเหมือนขี้ไก่




ต้นไม้แห้งกับท้องฟ้า




หยดฝนบนใบหญ้า


เป็นไงจ๊ะ ความเขียว ความชอุ่มชุ่มชื้น ยามหน้าฝนมาเยือน ถ้ามีโอกาสฉันจะเก็บภาพยามต้นข้าวหนุ่มน้อยพวกนี้ออกรวงเป็นสีเหลืองทอง มาฝากอีกนะจ๊ะ

คิดถึง
ตะแบก

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

เบิ่งงานบุญบั้งไฟ...ถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้

ถึง...เพื่อน

มองไปไกลสุดสายตา บนท้องฟ้ากว้าง ระเรื่อยลงมาตรงขอบฟ้า หาใช่ผืนน้ำทะเลสีครามไม่ หากแต่เป็นพื้นดิน เป็นท้องทุ่งโล่งอันกว้างใหญ่ วันนี้ตอนนี้แทนที่ฉันจะยืนอยู่บนหาดทรายชายฝั่ง ฉันกลับยืนอยู่ท่ามกลางทุ่งนาโล่ง มองไปทางไหนก็มีแต่ทุ่งกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่ประปราย ซึ่ง เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่ชวนให้หลงใหลกับความงามตามธรรมชาติ


เธอเดาออกไหมว่าฉันอยู่ที่ใด ไปไหนมา ?

ฉันอยู่บนพื้นแผ่นดิน ที่เขาเรียกกันว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ฉันไปเยือนจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มากที่สุด มีถึง 3 ใน 5 ส่วนของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้งหมด

เขาเล่ากันมาว่า เมื่อก่อนมีพวกกุลา ซึ่งเป็นพวกที่เดินทางค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ พวกกุลาเป็นพวกที่มีความเข้มแข็ง อดทนเป็นเยี่ยม แต่เมื่อพวกกุลาเดินทางมาถึงทุ่งนี้ ได้รับความทุกข์ยากเป็นอันมากถึงกับร้องไห้ เพราะตลอดทุ่งนี้ไม่มีน้ำและก็ต้นไม้ใหญ่เลย หน้าแล้งพื้นดินก็แตกระแหง ด้วยเหตุฉะนี้แล จึงได้ชื่อว่า ทุ่งกุลาร้องไห้

ฉันมาเที่ยวงานบุญบั้งไฟของบ้านภูดิน อำเภอปทุมรัตน์ เพื่อนเจ้าบ้าน บอกให้ฉันฟังว่า งานบุญบั้งไฟ นิยมทำกันเดือนหกเป็นประเพณีทำเพื่อบูชาพระยาแถนซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝน เมื่อจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาแล้ว เทพเจ้าองค์นี้จะบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาลและมีปริมาณเพียงพอแก่การปลูกพืชพันธุ์ ธัญญาหาร


ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าขั้นตอนเขาทำกันอย่างไรบ้าง เพื่อนบอกว่าช่วงบ่ายเขาจะมีขบวนแห่ เพื่อนชวนฉันไปรับหลานที่ร้านแต่งหน้าในตัวอำเภอ ฉันเห็นเขาแต่งหน้า ใส่ชุดไทยกันสวยงาม ตั้งแต่เด็กจนถึงสาววัยรุ่น ฉันและเพื่อนขับรถมาส่งเด็กงามสาวงามที่จุดตั้งขบวน


ในขบวนแห่ก็มีรถที่ตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อแห่แหนบั้งไฟไปที่วัด ฉันเห็นมีคนหนึ่งอยู่บนยอดสูงบนรถที่ตกแต่งใกล้กับหัวพญานาค เขาขึ้นไปทำไมไม่รู้เหมือนกัน จนเริ่มเคลื่อนขบวนก็เลยถึงบางอ้อ เขาไปนั่งบังคับหัวพญานาคให้หมุนไปหมุนมาแล้วก็พ่นน้ำออกมา เพื่อนฉันบอกว่า เขามีความเชื่อเรื่องพญานาคให้น้ำ

ฉันเห็นม้าตัวสูงใหญ่ บรรทุกอยู่บนรถ บนม้าก็มีหญิงชายคู่หนึ่งนั่งอยู่บนนั้น ป้ายนำหน้าม้าเขาเขียนไว้ว่า “ผาแดง นางไอ่” แล้วผาแดงนางไอ่ เกี่ยวอะไรกับบุญบั้งไฟล่ะ






เพื่อนฉันก็เลยเล่าตำนานของผาแดงกับนางไอ่ให้ฟัง

ที่เมืองหนึ่ง พอดีฉันจำชื่อเมืองไม่ได้ มีพญาขอมเป็นเจ้าเมืองปกครอง พระยาขอมมีลูกสาวแสนสวยคนหนึ่ง ชื่อ ไอ่คำ ซึ่งความงามนี้ก็กะฉ่อนไปเข้าหูของท้าวผาแดง ที่อยู่อีกเมืองหนึ่ง ท้าวผาแดงจึงได้แอบมาหานางไอ่คำ และก็สมัครรักใคร่กัน



ครั้นถึงกลางเดือนหกพระยาขอมจะทำบุญบั้งไฟ จึงมีใบบอกบุญไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นบริวารให้ทำบั้งไฟไปร่วมจุดในงาน ท้าวผาแดงไม่ได้รับใบบอกบุญ แต่ได้ทราบข่าวจึงจัดบั้งไฟไปร่วมบุญด้วย และได้พบนางไอ่คำอีก ในการจุดบั้งไฟของพระยาขอมกับท้าวผาแดงพนันกันว่า ถ้าบั้งไฟของใครชนะจะได้ทรัพย์สมบัติและนางสนมกำนัล สำหรับท้าวผาแดงนั้นจะยกนางไอ่คำให้ ในเวลาจุดปรากฏว่าบั้งไฟของเมืองอื่น ๆ ขึ้นหมด ส่วนของพระยาขอมไม่ขึ้น และของท้าวผาแดงแตกกลางบั้ง แต่พระยาขอมก็เฉยเสียไม่ทำตามสัญญา เจ้าเมืองต่าง ๆ จึงพากันกลับหมด ส่วนท้าวผาแดงก็กลับเมืองของตนพร้อมกับความทุกข์เพราะความรักและบั้งไฟไม่ขึ้น



ในงานนี้มีภังคีซึ่งเป็นลูกชายพญานาค ได้แปลงกายมาร่วมงานด้วย เมื่อได้เห็นนางไอ่ก็หลงรัก จึงได้แปลงกายเป็นกระรอกเผือกมาปีนป่ายตามต้นไม้ใกล้กับห้องพักนางไอ่ เมื่อนางไอ่เห็นกระรอกเผือกจึงอยากได้ ให้นายพรานจับมาให้ นายพรานได้ยิงกระรอกเผือกตาย ซึ่งก่อนตายกระรอกเผือกหรือภังคีได้อธิษฐานว่า ขอให้เนื้อหาจงเอร็ดอร่อย พอกินแก่คนทั้งเมือง



เมื่อพ่อของภังคีทราบจึงให้ฆ่าทุกคนที่ได้กินเนื้อภังคี ในวันนั้นเองท้าวผาแดงทนคิดถึงนางไอ่ไม่ไหว จึงขี่ม้าบักสามมาหานางไอ่ และได้พานางไอ่หนี แต่ก็ช่วยนางไอ่ให้รอดพ้นจากพญานาคไม่ได้ ท้าวผาแดงเสียใจอย่างมาก จึงอธิษฐานต่อเทพยดาว่าจะขอตายเพื่อไปต่อสู้เอานางไอ่คำกลับคืนมา



นี่ล่ะนะความรัก ตำนานความรักมีทั้งสุขสมหวัง เศร้าทุกข์ผิดหวัง ชีวิตจริงของเราก็เหมือนกันมีทั้งสุขทุกข์ปนกันไป สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง


เล่าเรื่องผาแดงนางไอ่มาซะยาวเลย นอกจากจะมีผาแดงนางไอ่แล้ว ในขบวนก็ยังมี การฟ้อนรำ การเซิ้ง ระหว่างถ่ายรูปและกำลังสนุกกับจังหวะการเซิ้ง การฟ้อนรำอยู่ ก็เหลือบไปเห็น น้าผู้หญิงสวมชุดแดง หมวกแดง หาบปลัดขิกอันใหญ่ เพื่อนฉันบอกว่า ที่มีอยู่ในงานนี้ด้วย เพราะว่า สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่างฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิตและเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝนซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช



หลังจากเสร็จสิ้นขบวนแห่ก็จะเป็นการจุดบั้งไฟขึ้นฟ้า เสียดายฉันไม่ได้ไปดู เลยไม่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการจุดบั้งไฟเลย
ไว้คราวหน้า ถ้ามีโอกาสอีกจะไม่พลาดแล้ว ฉันเลยมีแต่รูปบั้งไฟอันน้อยนิด มาให้ดู

ในค่ำคืนของวันนี้ ทางวัดก็มีการจัดงาน มีดนตรี มีการแสดงของลูกหลาน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ทำการทอดผ้าป่า เป็นการร่วมกันของลูกหลานที่ไปทำงานไกลบ้านกลับมาทำบุญ สร้างความเจริญให้วัดบ้านเกิด

ที่นี่จะมีการให้ของที่ระลึกแก่ผู้ที่มาทำบุญด้วย ของที่ให้ก็เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำกันเอง อย่างเช่น เสื่อ หมอน ที่นอน เป็นต้น เมื่อได้ของที่ระลึกกันแล้วก็แยกย้ายกันกลับ บ้านภูดินก็คงเงียบลงอีกครา เพราะลูกหลานต้องกลับกรุงเทพ กลับไปยังสถานที่ทำงาน เพื่อหาเงินดำรงชีพกันต่อไป แต่คงอีกไม่นานนัก ลูกๆ หลาน ๆ ก็คงกลับมาเยี่ยมเยือนผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ที่ให้กำเนิด กลับมาเยี่ยมถิ่นที่เขาเกิด

ฉันหวังว่า เธอจะสนุกและได้ความรู้บ้างเกี่ยวกับประเพณีหนึ่งของไทย ในดินแดนอิสานนะจ๊ะ

คิดถึง
ตะแบก